เมฆ (Cloud)

เมฆ (Cloud)


หมวดหมู่:อื่นๆ วันที่:2014-10-02

เมฆ (Cloud)

 

 

เมฆ เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มไอน้ำขนาดเล็ก ในชั้นบรรยากาศ เมื่อไอน้ำควบแน่นจะกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็ง (ขนาด 0.01-0.06 มิลลิเมตร) เมฆ ประกอบด้วยละอองน้ำและละอองน้ำเย็นยิ่งยวด ผลึกน้ำแข็งขนาดเล็ก ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับชนิดหรือประเภทของเมฆแต่ละอย่าง

ลักษณะของเมฆอยู่ 2  ลักษณะคือ

1.เมฆแผ่น (Stratiform)
2.เมฆก้อน (Cumuliform)


ลักษณะรูปร่างของเมฆ 

Stratus หมายถึง เมฆที่มีลักษณะเป็นชั้นหรือเป็นแผ่น
Cumulus หมายถึง เมฆที่มีลักษณะเป็นก้อน
Nimbus หมายถึง เมฆที่ก่อให้เกิดฝน
Cirrus หมายถึง เมฆที่มีรูปร่างคล้ายกับเส้นผม

 

 

เมฆแบ่งออกเป็น 4 ประเภท
 

              1.เมฆชั้นต่ำ (Low Clouds ) เป็นเมฆที่มีความสูงต่ำกว่า 2 กิโลเมตร จากพื้นดิน บางครั้งเมฆประเภทนี้ถ้าอยู่ระดับพื้นดินเราเรียกว่า  “หมอก”
              เมฆชั้นต่ำ แบ่งออกเป็น 3 ชนิดคือ
1.1.เมฆสเตรตัส (Stratus Cloud) มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆหนาสม่ำเสมอ ลอยสูงเหนือพื้นไม่สูงมาก มีสีเทา มักเกิดขึ้นตอนเช้าหรือหลังฝนตก

 

รูปแสดง เมฆสเตรตัส (ที่มา http://www.atmos.washington.edu)


 1.2.เมฆนิมโบสเตรตัส (Nimbostratus Cloud) มีลักษณะเป็นแผ่นหนาสีเทาเข้ม คล้ายพื้นดินที่เปียกน้ำ เป็นแนวยาวติดต่อกันและกว้างออกไป ไม่เป็นรูปร่าง ทำให้เกิดฝนตก พรำๆ เล็กน้อยต่อเนื่องเป็นเวลานาน ไม่มีพายุฝน

  

รูปแสดง เมฆนิมโบสเตรตัส (ที่มา http://www.ehow.com)
 

1.3.เฆมสเตรโตคิวมูลัส (Stratocumulus Cloud) ลักษณะเป็นก้อนกลม มีสีเทา ลักษณะอ่อนนุ่ม แต่เรียงติดกันเป็นแถวๆ ทั้งทางแนวตั้ง และทางแนวนอนรวมกันคล้ายคลื่น ไม่มีรูปทรงที่ชัดเจน

 

รูปแสดง เฆมสเตรโตคิวมูลัส (ที่มา http://newteemss2.concord.org)

 

              2.เมฆแนวตั้ง(Clouds of Vertical Development)  เป็นเมฆที่มีแนวก่อตัวในแนวตั้ง ที่มีความสูงของฐานเมฆประมาณ 500 เมตร  ส่วนของยอดมีความสูงนั้นไม่แน่นอน (บางครั้งสูงถึงระดับเมฆชั้นสูง) 
             เมฆแนวตั้งแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ
2.1.เมฆคิวมูลัส (Cumulus Cloud)
มีลักษณะเป็นก้อนหนาปุกปุย สีขาว คล้ายกล่ำ ถ้าเกิดหรือลอยอยู่โดดเดี่ยว อากาศดี แดดจัด ถ้ามีขนาดก้อนใหญ่ อาจมีฝนตกเป็นแห่ง ๆ (ภายใต้ก้อนเมฆ)
 

รูปแสดง เมฆคิวมูลัส (ที่มา http://commons.wikimedia.org)
 

2.2.เมฆคิวมูโลนิมนัส (Cumulonimbus Cloud) เป็นเมฆที่พัฒนามาจากเมฆคิวมูลัส มีลักษณะก้อนใหญ่ คล้ายภูเขา ยอดเมฆมีรูปร่างคล้ายทั่ง ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฝนตกหนักหรือเกิดลูกเห็บ บางครั้งเรียกว่า “เมฆฝนฟ้าคะนอง”
 

 

รูปแสดง เมฆคิวมูโลนิมนัส (ที่มา http://1.bp.blogspot.com)
 

               3.เมฆชั้นกลาง (Middle Clouds) เป็นเมฆที่มีแนวก่อตัวในระดับความสูง 2-5 กิโลเมตร มีลักษณะทั้งที่เป็นแผ่นและก้อน โดยที่เมฆจะประกอบด้วยละอองน้ำและละอองน้ำเย็นยิ่งยวด
              เมฆชั้นกลางแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ
3.1.เมฆอัลโตคิวมูลัส (Altocumulus Cloud)
มีลักษณะก้อน มีสีขาว บางครั้งสีเทา อยู่เป็นกลุ่ม ๆ คล้ายฝูงแกะ ลอยเป็นแพจัดตัวเป็นแถว ๆ เป็นชั้น ๆ มีช่องว่างระหว่างก้อนเล็กน้อย ทำให้เกิดเงาเมฆเป็นเกล็ด เป็นก้อนม้วนตัว อาจมี 2 ชั้นหรือมากกว่าขึ้นไป ทำให้เกิดพระอาทิตย์ทรงกลด
 

รูปแสดง เมฆอัลโตคิวมูลัส (ที่มา http://galleryhip.com)
 

 3.2. เมฆอัลโตสเตรตัส  (Altostratus Cloud) ลักษณะเป็นสีเทา หรือสีฟ้า แผ่นหนาบางสม่ำเสมอ ปกคลุมบริเวณกว้างเต็มท้องฟ้า บังแสงของพระอาทิตย์หรือแสงจันทร์ บางส่วนที่มีแสงส่องผ่านได้ อาจมีแสงทรงกลด 
 

รูปแสดง เมฆอัลโตสเตรตัส (ที่มา http://cloud-maven.com)

 

                 4.เมฆชั้นสูง (High Cloud) เป็นเมฆที่มีแนวก่อตัวในระดับความสูงกว่า 5 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นก้อนเล็ก ๆ ค่อนข้างโปร่งใส เป็นเมฆที่ไม่ทำให้เกิดฝนเลย โดยที่เมฆจะประกอบด้วยผลึกน้ำแข็งขนาดเล็ก (เป็นผลมาจากอุณหภูมิของอากาศบนนั้นหนาวจัด)
                เมฆชั้นสูงแบ่งออกเป็น 3 ชนิดคือ
4.1. เฆมเซอรัส (Cirrus Cloud)
มีลักษณะมีสีขาวเจิดจ้า เป็นเส้น ๆ ริ้วบาง ๆ หรือริ้วโค้ง ๆ เหมือนขนนก มีหลาย ๆ รูปทรง แสงอาทิตย์ส่องผ่านได้อย่างดี
 

รูปแสดง เฆมเซอรัส (ที่มา http://cloudobservations.wordpress.com)
 

4.2. เมฆเซอโรสเตรตัส (Cirrostratus Cloud) มีลักษณะแผ่นบาง สีขาว โปร่งแสง เป็นผลึกน้ำแข็งหรือละอองคลื่นเล็ก ๆ อยู่ติดกัน ปกคลุมท้องฟ้าเป็นบริเวณกว้าง
 

 

รูปแสดง เมฆเซอโรสเตรตัส (ที่มา http://www.mmem.spschools.org)
 

 4.3. เมฆเซอโรคิวมูลัส (Cirrocumulus Cloud) ลักษณะเป็นมีสีขาวหรือน้ำเงินจางๆ โปร่งแสง เหมือนม่านหรือขนแกะ ติดต่อกันเป็นแผ่น ปกคลุมเต็มท้องฟ้าหรือเพียงบางส่วน
 

 

รูปแสดง เมฆเซอโรคิวมูลัส (ที่มา http://www.panoramio.com)